หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ
|
1. กำเนิดแห่งชีวิต
ท่าน อาจารย์พุทธทาส มีนามเดิมว่า เงื่อม นามสกุล พานิช เกิดเมื่อ วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ในสกุลของพ่อค้าที่ตลาดพุมเรียง ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี บิดา ชื่อ เซี้ยง มารดาชื่อ เคลื่อน มีน้องสองคนเป็นชาย ชื่อ ยี่เก้ย และ เป็นหญิง ชื่อ กิมซ้อย บิดาของท่านมีเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพหลัก คือ การค้าขายของชำ เฉกเช่นที่ชาวจีนนิยมทำกัน ทั่วไป แต่อิทธิพลที่ท่านได้รับจากบิดากลับเป็นเรื่องของความสามารถทางด้านกวี และทางด้านช่างไม้ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดา
ส่วน อิทธิพลที่ได้รับจากมารดา คือ ความสนใจในการศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง อุปนิสัยที่เน้นเรื่อง ความประหยัด เรื่องละเอียดละออในการใช้จ่าย และการทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด และต้องทำให้ดีกว่าครูเสมอ ท่านได้เรียนหนังสือเพียงแค่ชั้น ม.๓ แล้วต้องออกมาค้าขายแทนบิดาซึ่งเสียชีวิต
ครั้นอายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้บวชเป็นพระตามคตินิยมของชายไทย ที่วัดโพธาราม ไชยา ได้รับ ฉายา ว่า "อินทปัญโญ" แปลว่า ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ เดิมท่านตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณี เพียง ๓ เดือน แต่ความสนใจความซาบซึ้ง ความรู้สึกเป็นสุขและสนุกในการศึกษา และเทศน์แสดงธรรม ทำให้ท่านไม่อยากสึก เล่ากันว่า เจ้าคณะอำเภอ เคยถามท่านขณะที่เป็นพระเงื่อม ว่า มีความคิดเห็นอย่างไรในการใช้ชีวิต ท่านตอบว่า "ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด" "..แต่ถ้ายี่เก้ยจะบวช ผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย" ท่านเจ้าคณะอำเภอ ก็เลยไปคุยกับโยมแม่ของท่านว่า ท่านควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนยี่เก้ย น้องชายของท่านนั้น ไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะมีชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว คือ เป็นคนมักน้อย สันโดษ การกินอยู่ ก็เรียบง่าย ตัดผมสั้นเกรียน ตลอดเวลา นายยี่เก้ยก็เลยไม่ได้บวช ให้พี่ชายบวชแทนมาตลอด
2. อุดมคติแห่งชีวิต
พระ เงื่อมได้เดินทางมาศึกษาธรรมะต่อที่กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมเอก แล้วเรียนภาษาบาลี จนสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค ระหว่างที่เรียนเปรียญธรรม ๔ อยู่นั้น ด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษา ค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำรา ถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่าน รู้สึกขัดแย้ง กับวิธีการสอนธรรมะ ที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความย่อหย่อน ในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของพุทธศาสนิกชน ในเวลานั้นทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาที่สอน ที่ปฏิบัติกันในเวลานั้น คลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ ทรงชี้แนะ ท่าน จึงตัดสินใจ หันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์เวลานั้น กลับไชยาเพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติ ตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับนายธรรมทาส และคณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม "สวนโมกขพลาราม" ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จากนั้นท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่าท่านมาไม่ผิดทางแน่ และได้ประกาศใช้ชื่อนาม "พุทธทาส" เพื่อแสดงว่าให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน
3. ปณิธานแห่งชีวิต
อุดมคติ ที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่ พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน แต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนาแบบมหายาน และ ศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู สิกข์ เป็นต้น จากความรอบรู้ที่กว้างขวางและลึกซึ้งนี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์วิธีการสอน และปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับพื้นความรู้ และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่ามนุษย์ทุกคน ก็คือ เพื่อนร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการให้คนพ้นจากความทุกข์ ท่านจึงได้ตั้งปณิธานในชีวิตไว้ ๓ ข้อ คือ
1. ให้พุทธศาสนิกชน หรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึงความหมายอันลึกซึ้ง ที่สุดแห่งศาสนาของตน
2. ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
3. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม
แม้ ในความพยายามที่จะทำตามปณิธานนี้ จะทำให้บางคนไม่เข้าใจท่าน ไม่ชอบท่าน ด่าว่าท่าน หาว่า ท่านจ้วงจาบพระพุทธศาสนา เป็นเดียรถีย์ เป็นคอมมิวนิสต์ หรือรับจ้างคนคริสต์มาทำลายล้าง พระพุทธศาสนา ก็ตาม แต่ท่านกลับรับฟังคำวิจารณ์ เหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง ถือเป็นการแลกเปลี่ยน ทางความคิด ในเรื่องเนื้อหา และหลักการ มากกว่าที่จะก่อความขัดแย้งส่วนตัว เพราะท่านมีหลัก ในการทำงานว่า "พุทธบุตรทุกคน ไม่มีกังวลในการรักษาชื่อเสียง มีกังวลแต่การทำความบริสุทธิ์ เท่านั้น เมื่อได้ทำความบริสุทธิ์ มองเห็นชัดเจนใจอยู่แล้วว่า นี่มันบริสุทธิ์เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบ หรือไม่ชอบก็ตาม เราต้องทำด้วยความพยายามอย่างสุดชีวิต จะมีชื่อเสียงหรือไม่นั้น อย่านึกถึง เลยเป็นอันขาด จะกลายเป็นเศร้าหมอง และหลอกลวงไปไม่มาก ก็น้อย"
ในที่สุดท่านก็ได้รับการยอมรับจากวงการคณะสงฆ์ไทย วงการศึกษาของไทย และวงการศึกษาธรรมะของโลก ได้รับการยอมรับให้เป็นเสนาบดีแห่งกองทัพธรรมในยุคหลังกึ่งพุทธกาล เยี่ยง พระมหากัสสปในครั้งพุทธกาล
4. ผลงานแห่งชีวิต
ตลอด ชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านย้ำอยู่เสมอว่า "ธรรมะคือหน้าที่" เป็นการทำหน้าที่เพื่อความอยู่รอด ทั้งทางฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณของมนุษย์ และท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะ ทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้า ทุกอณูแห่งลมหายใจเข้าออก จนแม้วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าผลงานที่ท่านสร้างสรรค์ ไว้เพื่อเป็นมรดกทางธรรมนั้น จะมีมากมายสักปานใด ซึ่งจะขอนำมากล่าวเฉพาะผลงานหลักๆ ดังนี้ คือ
1. การจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรมสวนโมกขพลาราม และสวนโมกข์นานาชาติ
2. การร่วมกับคณะธรรมทาน ในการออกหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" ราย 3 เดือน นับเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของไทย เริ่มตีพิมพ์ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2476 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลารวม 61 ปี นับเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนา ที่มีอายุยืนยาวที่สุดของไทย
3. การพิมพ์หนังสือ ชุด "ธรรมโฆษณ์" ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมพิมพ์จากปาฐกถาธรรม ที่ท่านแสดงไว้ในวาระต่างๆ และงานหนังสือเล่มเล่มอื่นๆ ของท่าน โดยแบ่งออก เป็น 5 หมวด คือ
ก. หมวด "จากพระโอษฐ์" เป็นเรื่องที่ท่านค้นคว้าจากพระไตรปิฎก ฉบับภาษาบาลี โดยตรง
ข. หมวด "ปกรณ์พิเศษ" เป็นคำอธิบายข้อธรรมะ ที่เป็นหลักวิชาและหลักปฏิบัติ
ค. หมวด "ธรรมเทศนา" เป็นคำบรรยายแบบเทศนาในเทศกาลต่างๆ
ง. หมวด "ชุมนุมธรรมบรรยาย" เป็นคำขยายความข้อธรรมะ เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง
จ. หมวด "ปกิณกะ" เป็นการอธิบายข้อธรรมะเบ็ดเตล็ดต่างๆ ประกอบความเข้าใจ
4. การปาฐกถาธรรมของท่านที่ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในแง่วิธีการและการตีความพระพุทธศาสนาของท่าน กระตุ้นให้ผู้คนกลับมาสนใจธรรมะกันอย่างลึกซึ้ง แพร่หลายมากขึ้น ครั้งสำคัญๆ ได้แก่ ปาฐกถาธรรม เรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" "อภิธรรมคืออะไร" "ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร" "จิตว่างหรือสุญญตา" "นิพพาน" "การทำงานคือการปฏิบัติธรรม" "การศึกษาสุนัขหางด้วน" เป็นต้น
5. งานประพันธ์ของท่านเอง เช่น "ตามรอยพระอรหันต์" "ชุมนุมเรื่องสั้น" "ชุมนุมเรื่องยาว" "ชุมนุมข้อคิดอิสระ" "บทประพันธ์ของ สิริวยาส" (เป็นนามปากกาที่ท่านใช้ในการเขียน กวีนิพนธ์) เป็นต้น
6. งานแปลจากภาษาอังกฤษของท่าน เล่มสำคัญ คือ "สูตรของเว่ยหล่าง" "คำสอนของฮวงโป" ทั้งสองเล่มเป็นพระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซ็น เป็นต้น
คืนสู่ธรรมชาติเดิม
ท่านอาจารย์พุทธทาส ได้ละสังขารกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สิริรวม อายุ ๘๗ ปี นับได้ ๖๗ พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่า แทนตัวท่าน ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่าน รับมรดกความเป็น "พุทธทาส" เพื่อ พุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา ดังบทประพันธ์ของท่าน ที่ว่า
พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา
พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย
พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ
แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง
ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง
ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา
พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย
พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ
แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง
ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง
ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ
พุทธทาส อินทปัญโญ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น